ฮอร์โมนจากไขมันช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญของร่างกาย ทั้งในเรื่องการออกกำลังกายและการต่อสู้กับความหนาวเย็น

สุขภาพ
Credit: Antonioguillem Fotolia

ความเข้าใจที่ดีขึ้นในเรื่องการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย อาจนำไปสู่การรักษาโรคอ้วนได้ในที่สุด


มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ร่างกายของเราแต่ละคนตอบสนองต่อการออกกำลังกายได้ไม่เท่ากัน นักวิจัยจากศูนย์โรคเบาหวานโจสลิน ( Joslin Diabetes Center ) ได้ค้นพบเบาะแสใหม่เกี่ยวกับการตอบสนองที่แปรปรวนของฮอร์โมนตัวหนึ่ง ซึ่งมีระดับเพิ่มขึ้นในกระแสเลือดอย่างรวดเร็วระหว่างการออกกำลังกายและในช่วงที่อากาศหนาวเย็น

การค้นพบนี้ เป็นผลมาจากการศึกษาครั้งแรกเกี่ยวกับฮอร์โมนควบคุมไขมันในการออกกำลังกายที่ชื่อว่าไลโพคีน (lipokines) “นี่เป็นการศึกษาใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับระบบเผาผลาญร่างกายในการออกกำลังกาย และดูเหมือนว่าเราจะได้พบกับกลไกอื่นที่การออกกำลังกายเป็นผลดี ” ดร.ลอรี่ กู๊ดเยียร์ ( Dr. Laurie Goodyear ) หัวหน้าแผนกสรีรวิทยาและระบบการเผาผลาญอาหารที่ศูนย์ฯโจสลิน และเป็นผู้เขียนรายงานผลงานที่ตีพิมพ์เรื่องการเผาผลาญของเซลล์กล่าว

การทดลองทั้งในมนุษย์และหนูแสดงให้เห็นว่าระดับของไลโพคีนตัวหนึ่ง ที่มีชื่อว่า 12,13-diHOME มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีการออกกำลังกาย ซึ่งแตกต่างจากระดับของไลโพคีนตัวอื่นๆที่ทำการวิเคราะห์ไปแล้ว

การศึกษาได้ดำเนินการตามงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วในการทำงานร่วมกับ ดร.ยู่ฮวาเซิง (Dr. Yu-Hua Tseng) ที่ห้องทดลองของโจสลิน การทำงานร่วมกันนี้ได้สำรวจการปล่อยไลโพคีนออกมาจากไขมันสีน้ำตาล (brown fat) ซึ่งสามารถเผาผลาญพลังงานในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เมื่อได้สัมผัสความหนาวเย็น

ทั้งในมนุษย์และหนู นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าโมเลกุลของ 12,13-diHome ถูกปล่อยออกมาจากไขมันสีน้ำตาลในช่วงที่เราสัมผัสความหนาว และมีผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกายที่เป็นประโยชน์

ดร.กู๊ดเยียร์ ,รองศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กล่าวว่า “เราพบว่ามันน่าสนใจมาก เมื่อทำการวิเคราะห์ไลโพคีน ตัวเดียวกันกับที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เราสัมผัสความหนาว และมันเพิ่มขึ้นเมื่อมีการออกกำลังด้วย”

นักวิจัยที่ศูนย์ฯโจสลิน เริ่มการวัดระดับของไลโพคีน 3 ครั้ง คือ ก่อนการออกกำลังกาย ,ทันทีหลังจากการออกกำลังกาย และ3 ชั่วโมงหลังจากการออกกำลังกาย จากในเลือดของอาสาสมัคร 27 คนที่มีสุขภาพดีในวัยต่างๆ “ เมื่อวัดทันทีหลังการออกกำลังกาย 12,13-diHOME เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก” ดร.กู๊ดเยียร์กล่าว 

นักวิทยาศาสตร์ตามผลต่อด้วยการศึกษาอาสาสมัครหนุ่มสาวอีก 12 คนที่มีสุขภาพดี (แยกระหว่างผู้หญิงและผู้ชายจำนวนเท่ากัน) โดยที่ไม่ต้องมีการออกกำลังกายเป็นประจำ ระดับของไลโพคีนโดยทั่วไป พบว่าสูงขึ้นอย่างมาก ในช่วงระหว่างการออกกำลังกาย นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ พบอีกว่า ยิ่งมีการออกกำลังกายมากเท่าไร ระดับของ 12,13-diHOME จะมีมากขึ้นเท่านั้น 

ทีมวิจัยได้ศึกษาไลโพคีนจากการออกกำลังกายของหนู และได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน “เมื่อหนูออกกำลังช่วงสั้นๆครั้งเดียว เราจะเห็นการเพิ่มขึ้นของ 12,13-diHOME เรายังเห็นการเพิ่มขึ้นหลังจากการฝึกฝนออกกำลังกายด้วย” เธอกล่าว

ขั้นต่อไป นักวิจัยมองไปที่โมเลกุลที่เป็นเบาะแสไปสู่แหล่งที่มาของไลโพคีน และค้นพบว่า ไขมันสีน้ำตาลมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งนี้ได้รับการยืนยันเมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้นำไขมันสีน้ำตาลออกจากหนู จะพบว่าระดับ 12,13-diHOME จากการออกกำลังกายลดลงอย่างรวดเร็ว “ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวอย่างแรกที่ฮอร์โมนถูกปล่อยออกมาจากไขมันสีน้ำตาล ซึ่งอาจควบคุมผลการเผาผลาญบางอย่างจากการออกกำลังกาย” ดร.กู๊ดเยียร์กล่าว

นักวิจัยทั่วโลกมองหาหนทางที่จะเพิ่มการใช้พลังงานและลดความอ้วนโดยการกระตุ้นการทำงานของไขมันสีน้ำตาล “ข้อมูลส่วนใหญ่ของเราชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายไม่ได้เพิ่มการใช้พลังงานจากไขมันสีน้ำตาล แต่การออกกำลังกายมีผลต่อไขมันสีน้ำตาลอย่างชัดเจน” เธอกล่าว

การทำงานขั้นต่อไป ทั้งในเซลล์กล้ามเนื้อหนูและหนูที่ได้รับ 12,13-diHOME พบว่า ไลโพคีนทำหน้าที่เป็นสัญญาณเพื่อกระตุ้นการใช้กรดไขมันเป็นพลังงาน

เธอและเพื่อนร่วมงานของเธอกำลังขยายการค้นคว้าเกี่ยวกับบทบาทของไลโพคีน และไลโพคีนตัวอื่นๆที่ลดลงระหว่างการออกกำลังกาย ในกลุ่มคนตามวัยในจำนวนที่มากขึ้น และมีการศึกษาต่อในสัตว์เช่นกัน

” ยิ่งเรามีความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกายและวิธีการทำงานของมันมากขึ้นเท่าไร เราจะสามารถเข้าใจวิธีการต่อสู้กับโรคที่เกี่ยวกับการเผาผลาญอาหารได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ” เธอกล่าว

 

ที่มา: Sciencedaily
เรียบเรียง: SignorScience