ไข้หวัดใหญ่มีผลต่อร่างกายและสมองอย่างไร?

สุขภาพ

 

ไข้หวัดใหญ่มีผลต่อร่างกายและสมองอย่างไร?

อาการที่เริ่มต้นคือการคันในลำคอ และอาการไอ คุณจะเริ่มปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและไม่อยากอาหาร อาการเหล่านี้เป็นผลมาจากการติดเชื้อที่อยู่ในร่างกายของคุณ

จริงๆแล้วอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกไม่สบาย?

เมื่อคุณเริ่มไม่สบายเพราะมีการติดเชื้อเช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ในระบบของร่างกาย และไปทำลายเซลล์ การรุกรานของเชื้อนี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างหนึ่งด้วย คือการไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ตื่นตัว ทันทีที่รู้ว่ามีการติดเชื้อ ร่างกายจะป้องกันตัวเอง โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อว่า แมคโครฟาจ (Macrophage) ซึ่งจะเป็นด่านแรกที่ตรงเข้ามาตรวจหาเชื้อที่บุกรุกและทำลายมัน หลังจากนั้นมันจะสร้างโมเลกุลโปรตีนขนาดเล็กที่ชื่อว่าไซโตไคน์(Cytokine) ซึ่งมีหน้าที่ส่งสัญญาณเรียกเซลล์จากระบบในภูมิคุ้มกันมาให้มากขึ้นเพื่อปกป้องร่างกายจากเชื้อ

ในระยะนี้ถ้าระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงพอ มันจะทำลายเชื้อที่เข้ามาก่อนที่คุณจะรู้ตัว แต่ในกรณีที่เชื้อได้แพร่กระจายเข้าสู่เส้นเลือดหรืออวัยวะที่สำคัญ ระบบภูมิคุ้มกันจะเพิ่มการจัดการกับเชื้อ และประสานการทำงานกับสมองซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณเกิดอาการต่างๆที่ทำให้รู้สึกไม่สบาย เริ่มด้วยการมีไข้สูง การปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัว และรู้สึกอ่อนเพลียอยากนอน 

มันเกิดจากอะไร?

เมื่อร่างกายต้องต่อสู้กับเชื้ออย่างหนัก เซลล์เม็ดเลือดขาวจะสร้างไซโตไคน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง 

อย่างแรกที่มันจะไปกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดที่มีหน้าที่รับรู้ สั่งการและควบคุมการทำงานของส่วนต่างในร่างกาย และส่งสัญญาณไปสู่สมองส่วนที่รับรู้ความเจ็บปวด

 อย่างที่2 ไซโตไคน์จะเดินทางไปยังสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความหิว ความกระหาย และวงจรการหลับ-ตื่น เมื่อสมองส่วนนี้ได้รับสัญญาณ มันจะสร้างสารเคมีขึ้นมาที่ชื่อว่าโพรสตาแกลนดินส์ อีทู (Prostarglandins E2) เพื่อเร่งการต่อสู้กับเชื้อโรค สมองจะส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อหดตัว ซึ่งทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น และรู้สึกง่วงนอน ทำให้คุณรู้สึกไม่หิวกระหาย

แต่ความสำคัญของอาการเหล่านี้คืออะไร?

บางทฤษฎีกล่าวว่ามันช่วยให้เราฟื้นตัว อุณหภูมิของร่างกายที่สูงขึ้นจะช่วยให้การเจริญของเชื้อโรคช้าลงและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเชื้อได้ดีขึ้น

การนอนหลับทำให้ร่างกายคุณมีพลังงานเพิ่มขึ้นในขณะที่ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค

การที่คุณไม่รู้สึกหิวและหยุดกิน ตับของคุณสามารถรับธาตุเหล็กจากเลือดได้มากขึ้น ซึ่งธาตุเหล็กเป็นสิ่งจำเป็นของแบคทีเรีย ซึ่งเหมือนทำให้มันไม่มีอาหาร

แต่การไม่กระหายน้ำนั้น ทำให้คุณขาดน้ำได้ เพราะการไอ จาม อาเจียน หรือท้องเสียทำให้ร่างกายเสียน้ำ ถ้าคุณดื่มน้ำน้อยอาจทำให้ขาดน้ำและเป็นอันตรายกับร่างกายได้มากกว่า


การป่วยอาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดเศร้าและสับสน นั่นเป็นเพราะไซโตไคน์ และ โพรสตาแกลนดินส์ อีทู สามารถไปขัดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทของสมองได้ เช่น กลูทาเมท (glutamate)ที่ช่วยเรื่องการเรียนรู้และความจำ, เอนโดรฟิน (endorphin) ที่ระงับความเจ็บปวด, เซโรโทนิน (serotonin) ที่ช่วยในการควบคุมอารมณ์ และ โดพามีน (dopamine)ที่ทำให้เกิดตื่นตัว มันจึงกระทบต่อระบบลิมบิก ที่เป็นกลุ่มของสมองที่รับรู้อารมณ์และพฤติกรรม และสมองใหญ่ส่วนนอก(cerebral cortex) ที่เกี่ยวข้องกับการจำและการรับรู้

จริงๆแล้วร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน อาการทั้งหลายที่เกิดขึ้นอาจทำให้เรารู้สึกรำคาญ แต่มันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ร่างกายของเรา พยายามต่อสู้กับสิ่งภายนอกที่เข้ามา

 

ที่มา: TED-Ed
เรียบเรียง: SignorScience