มาทำความรู้จักกับปรากฏการณ์สุริยุปราคา Solar Eclipse

อวกาศ

สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส (Eclipse)

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้นเมื่อ โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน โดยที่มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลางระหว่าง โลก และดวงอาทิตย์ ทำให้เมื่อมองจากโลกจะเห็นว่าดวงจันทร์ค่อยๆเคลื่อนที่มาบดบังดวงอาทิตย์ โดยอาจจะบังเพียงส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์หรือบังมิดหมดทั้งดวง ซึ่งโอกาสที่จะเห็นการบังทั้งดวงจะน้อยกว่า เนื่องจากจะเกิดในบริเวณแคบๆเท่านั้น หรือาจจะไม่เกิดเลย โดยปกติจะเกิดปรากฏการณ์นี้ ประมาณ 2-5 ครั้งต่อปี ปรากฏการณ์สุริยคราสนี้ แบ่งออกได้เป็น 4ชนิด คือ

1. สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse): ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง

2. สุริยาปราคาบางส่วน (Partial Eclipse): ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน

3. สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Eclipse): ดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นรูปวงแหวน เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์อยู่ตำแหน่งที่ห่างออกไปจากโลกทำให้ดวงจันทร์ปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ จึงเห็นดวงอาทิตย์ที่อยู่ข้างหลังเป็นวงแหวน

4. สุริยุปราคาผสม (Hybrid Eclipse): ความโค้งของโลกส่งผลให้เกิดสุริยคราสแบบผสม โดยบางส่วนของโลกอาจจะเห็นเป็นการบดบังเพียงบางส่วน ในขณะที่อีกส่วนของโลกจะเห็นว่าเป็นการบดบังทั้งดวง

ซึ่งเงาจากดวงจันทร์ที่กระทบมายังโลก สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2ชนิด คือ เงามืดและเงามัว

1.เงามืด (Umbra): เป็นเงาที่มืดสนิทของดวงจันทร์ที่บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง ภายในเงามืดนี้เราจะไม่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้เลย

2.เงามัว (Penumbra): เป็นเงาที่ไม่มืดสนิท เนื่องจากดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วนทำให้มีแสงเล็ดลอดเข้ามาได้

 

สุริยุปราคาในปี 2560

1. สุริยุปราคาวงแหวน 26 กุมภาพันธ์ 2560

2. สุริยุปราคาเต็มดวง 21-22 สิงหาคม 2560

อย่าลืมว่าการจ้องมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าจะส่งผลเสียต่อสายตาไม่ว่าช่วงเวลาใดก็ตาม เราจึงควรใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ที่เหมาะสม แว่นกันแดดหรือกล้องโทรทรรศน์ไม่ใช่อุปกรณ์ที่เหมาะสมเนื่องจากไม่มีตัวกรองรังสีต่างๆจากดวงอาทิตย์ได้ เช่นรังสีอินฟราเรด โอกาสเดียวที่สามารถมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า คือตอนที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น

 

ที่มา: Lesa.biz, Thaiastro
เรียบเรียง: SignorScience